เทศกาลทานาบาตะหรืองานฉลองดวงดาวของประเทศญี่ปุ่น
เทศกาลทนาบาตะหรืองานฉลองดวงดาวของประเทศญี่ปุ่น ทานาบาตะ (「七夕」(Tanabata) หมายถึง งานเทศกาลทานาบาตะหรืองานฉลองดวงดาวของประเทศญี่ปุ่น จะตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ( 7 กรกฎาคม) ของทุกปี เทศกาลนี้เป็น 1 ใน 5 เทศกาล ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการผันเปลี่ยนฤดูกาลในประเทศญี่ปุ่น และเชื่อกันว่าเป็นวันที่โอริฮิเมะ สาวทอผ้า (ดาวเวก้า – Vega) จะได้พบกับฮิโกโบชิ ชายเลี้ยงวัว (Altair) กันเพียงปีละหนึ่งครั้ง โดยข้ามฝั่งแม่น้ำสวรรค์(ทางช้างเผือก) มาพบกัน ซึ่งสะพานนั้นก็คือฝูงนกนางแอ่น (ดาวเดเนบ – Deneb)
ตำนานแห่งเทศกาลทานาบาตะ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วที่ฝั่งแม่น้ำด้านเหนือ ของอามาโน่ คาวา(ทางช้างเผือก) บนสวรรค์มีลูกสาวของเทพผู้ครองสวรรค์ นางหนึ่งชื่อว่า”โอริฮิเมะ” นางเป็นคนที่สวยและขยันขันแข็งทำงานไม่ยอมหยุด งานประจำของนาง คือ “การทอผ้า” นางทอผ้าได้สวยงามและประณีตมากจึงเป็นที่พึงพอใจของเหล่าเทพทั้งหลาย นั่นจึงเป็นเหตุให้เธอต้องใช้เวลาที่มีทั้งหมดเพื่อทอผ้าให้กับชาวสวรรค์ทั้งหลาย จนเธอไม่มีเวลาได้มีความรักกับชายหนุ่มอย่างหญิงสาวทั่วไป เทพผู้ครองสวรรค์ผู้เป็นบิดาเป็นห่วงและสงสารธิดาจึงคิดที่จะให้นางได้มีคู่ครอง เทพผู้เป็นบิดาจึงประกาศหาคู่ให้กับโอริฮิเมะ นางถูกตาต้องใจกับชายหนุ่ม ที่ชื่อ」”ฮิโกโบชิ” ชายหนุ่มผู้นี้เป็นคนเลี้ยงวัวอยู่ฝั่งด้านใต้ของทางช้างเผือก เป็นคนที่ขยันขันแข็งไม่แพ้โอริฮิเมะ ร่างกายกำยำและสง่างาม ยามเมื่อเลือกคู่ก็ดู เหมือนว่าทั้งคู่ก็ดูจะถูกตาต้องใจซึ่งกันและกัน เทพผู้เป็นบิดาจึงให้ทั้งสองได้แต่งงานกัน แต่เมื่อโอริฮิเมะได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกับฮิโกโบชิ ทำให้เธอละทิ้งงานทอผ้า ส่วนฮิโกโบชิก็ละทิ้งงานเลี้ยงวัวของตนเช่นกัน ทำให้วัวของฮิโกโบชิเดินเพ่นพ่านไปทั่วสวรรค์ ก่อความเดือดร้อนให้เทพบนสวรรค์เป็นอย่างมาก ซึ่งให้เจ้าผู้ครองสวรรค์ผิดหวังยิ่งนัก เทพผู้เป็นบิดาจึงพิโรธลงโทษให้ทั้งสองแยกจากกันไปอยู่คนละทิศของทางช้างเผือก เมื่อต้องแยกกับฮิโกโบชิ โอริฮิเมะโศกเศร้าเสียใจยิ่งนัก จนไม่มีกะจิตกะใจจะทอผ้าให้งดงามได้ดังเดิม แถมยังดูหดหู่จนเจ้าผู้ครองสวรรค์เวทนา จนกระทั้งเทพผู้เป็นบิดาเกิดความสงสารในตัวนาง ท่านจึงใจอ่อนยอมให้ทั้งสองได้พบกันปีละครั้ง แล้ววันนั้นก็คือวันที่ 7 เดือน 7 ของทุก ๆปี จากนั้นมาทั้งสองจึงมีความหวังว่าจะได้พบกันถึงแม้ว่าจะเป็น 1 ปี 1 ครั้งก็ตาม โอริฮิเมะกับฮิโกโบชิจึงกลับมาขยัน ขันแข็งตั้งหน้าตั้งตาทำงานเหมือนเดิม และในทุก ๆปีทางช้างเผือกจะออกมาปรากฏบนท้องฟ้า โอริฮิเมะและฮิโกโบชิก็จะได้มาพบกันสมดังปรารถนา
และนั่นก็ทำให้ชาวญี่ปุ่นยึดว่าวันที่ 7 กรกฎาคมของทุกปี คือ วันทานาบาตะ เป็นที่มาของเทศกาลทานาบาตะที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี ซึ่งชาวญี่ปุ่นจะขอพรจากดวงดาว เพราะเชื่อว่าปาฏิหาริย์ที่ทำให้ทั้งคู่ได้เจอกันจะทำให้พรของตัวเองสมหวังด้วยเช่นกัน โดยในวันนี้ผู้คนจะเขียนคำอธิษฐานลงบนกระดาษทังซะกุ (Tanzaku) แล้วนำไปติดไว้กับกิ่งก้านของต้นไผ่ที่ถูกตัดออกมา พอวันรุ่งขึ้นก็จะนำไปลอยน้ำ
โดยกระดาษทั้งหมดจะมี 5 สี สื่อความหมายแตกต่างกันไป ได้แก่ สีเขียวที่หมายถึงความก้าวหน้าในการเรียนและหน้าที่การงาน, สีเหลืองคือโชคลาภเงินทอง, สีแดงคือความสำเร็จ, สีชมพูคือความรัก และสีฟ้าได้แก่ความสุข ซึ่งในช่วงเทศกาลบ้านและร้านรวงต่าง ๆ จะประดับประดาด้วยกระดาษสีเหล่านี้ทำให้ทั่วญี่ปุ่นเต็มไปด้วยสีสันสดใส
การประดับตกแต่งในเทศกาลทานาบาตะ
– ทังซะกุ (Tanzaku) กระดาษสำหรับเขียนคำอธิษฐานนั้น จะใช้กระดาษทั้งหมด 5 สี ได้แก่สีฟ้า แดง เหลือง ขาว และดำ (หรือม่วง)
– โอริทสึรุ คือ นกกระเรียนกระดาษ เพื่อขอพรให้อายุยืนยาว
– ถุงคินชะกุ คือ ถุงใบเล็ก ๆ สำหรับใส่ของกระจุกกระจิกเป็นสัญลักษณ์แทนกระเป๋าเงิน เพื่อขอพรให้ร่ำรวย
– อามิคาซาริ คือ ของตกแต่งรูปร่างคล้ายแหทำจากกระดาษ เพื่อขอพรให้การประมงรุ่งเรือง
– อื่น ๆ ตามแต่วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น
เทศกาลทนาบาตะหรืองานฉลองดวงดาวของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ชาวบ้านยังนิยมใส่ชุดประจำชาติเช่น ยูคาตะ เดินกัน ทำให้บรรยากาศดูสดใสครึกครื้นขึ้นอีก แถมปัจจุบันยังมีการเพิ่มขบวนพาเหรดสวย ๆ มีการจุดพลุ และอาหารแผงลอยรวมทั้งของที่ระลึกหลากหลายขายกันมากมายให้เราได้เดินดูงานไปด้วย ชิมอาหารอร่อย ๆ ไปพลางอีกต่างหาก เรียกได้ว่ามีความสนุกครบวงจรเลยล่ะ
– เทศกาลทานาบาตะเมืองฮิรัตสึกะ (Shonan Hiratsuka Tanabata Festival) จังหวัดคานางาวะ (Kanagawa) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2019 ณ บริเวณสถานีรถไฟ Hiratsuka
– เทศกาลทานาบาตะเมืองอันโจ (AnjoTanabata Festival) จังหวัดไอจิ (Aichi) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2019 ณ บริเวณสถานีรถไฟเจอาร์อันโจ
อย่างไรก็ดีไม่ใช่แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ เพราะที่ประเทศจีนก็มีเทศกาลเพื่อหนุ่มสาวคู่รักหญิงทอผ้าและหนุ่มเลี้ยงวัวเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของเทศกาลนี้เลยก็ว่าได้ โดยใช้ชื่อว่า เทศกาลชีซี (Qixi Festival) (แต่จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี) ในขณะที่ประเทศบราซิลก็ได้แรงบันดาลใจ มาจัดงานทานาบาตะที่เมืองเซนต์เปาโลบ้าง ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม
ซึ่งถึงแม้วันนี้คุณจะยังไม่เชื่อในปาฏิหาริย์ของดวงดาว แต่ถ้าได้มองดวงดาวและขอพรดูสักครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศและความศรัทธาเต็มเปี่ยมที่เกิดขึ้นในเทศกาลทานาบาตะ ไม่แน่ว่าคุณอาจได้เจอปาฏิหาริย์เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างไม่คาดฝันก็ได้นะคะ